อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก (ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้ออุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้านี้มีด้วยกันทั้งหมด 5 หน้า ท่านสามารถ click link ชื่อสถานที่ท่องเที่ยวในอุทยานฯ ทางด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
“ความขัดแย้ง” คือ สิ่งซึ่งเกิดขึ้นเคียงคู่อยู่กับสังคมมาช้านานและก็จะดำรงอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงมีลมหายใจอยู่บนโลกใบนี้ เมื่อความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน – พวกพ้อง , ความละโมบโลภมาก , การทุจริตฉ้อฉล , การโกหกหลอกลวง , ความเชื่อ – ทัศนคติที่บิดเบือน กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้และพบเห็นอยู่โดยทั่วไปในสังคม ความขัดแย้งก็ยิ่งก่อตัวเพิ่มความรุนแรงมากเท่าทวีคูณ แม้ว่าในอดีตจะมีบทเรียนแห่งความสูญเสียมากมายเคยเกิดขึ้นแต่ก็ดูเหมือนว่ามนุษย์แทบจะไม่ได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ผ่านมาเหล่านี้สักเท่าไหร่นัก
“ภูหินร่องกล้า” เป็นอีกหนึ่งสมรภูมิแห่งความขัดแย้งเมื่อครั้งอดีตระหว่าง “รัฐบาล” ในยุคสมัยนั้น กับ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)” ด้วยลักษณะภูมิประเทศของภูหินร่องกล้าซึ่งประกอบไปด้วยแนวภูผาหินอันสลับซับซ้อนและผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ทำให้ พคท.เลือกใช้สถานที่แห่งนี้เป็นฐานที่มั่นใหญ่.....ภายหลังเมื่อความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่าย พคท.คลี่คลายลง..... “ภูหินร่องกล้า” ก็ได้รับการจัดตั้งให้กลายเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2526 ในท้ายที่สุด
ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) มีโอกาสเดินทางมาเก็บข้อมูลของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าเมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 และพวกเราก็ได้พบว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจภายในเขตอุทยานฯอยู่หลายแห่งดังต่อไปนี้
|
"อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า".....ความมหัศจรรย์ที่เราอยากท้าให้คุณมาลองสัมผัส |
|
.........."ลานหินแตก" กับ รอยแยกประหลาด.......... |
1. ลานหินแตก เป็นลานหินตะปุ่มตะป่ำสีขาวอมเทาเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ จากการศึกษาทางธรณีวิทยาพบว่าในบริเวณดังกล่าวเป็นเทือกเขาซึ่งมีการเอียงเทของชั้นหินแบบโครงสร้างประทุนคว่ำ (ประทุน : หลังคาเรือ เกวียน หรือรถ มีลักษณะโค้งตามรูปร่างของยานพาหนะนั้น ๆ) โดยมีปลายข้างหนึ่งทางทิศเหนือเอียงเทลง มีรอยเลื่อนของชั้นหินขนาบสองข้างทั้งทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ต่อมามีการโก่งตัวของชั้นหินจึงทำให้เกิดรอยแตกเป็นแนวตั้งฉากกัน เมื่อเวลาผ่านไปน้ำใต้ดิน ฝน ลม ก็กัดกร่อนพื้นผิวไปเรื่อย ๆ จนทำให้ลานหินแตกมีสภาพดังเช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อครั้ง “ยุทธการภูขวาง” ปี พ.ศ. 2515 ลานหินแตกเคยเป็นสมรภูมิรบระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่าย พคท. มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันในครั้งนั้นเป็นจำนวนมากจนลานหินแตกได้รับการเรียกขานกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “ลานเลือด” บริเวณทางเดินหรือตามซอกหลืบของลานหินแตกอาจจะพบพันธุ์ไม้ประเภทมอส เฟิร์น กล้วยไม้ดิน และเอื้องหินต่าง ๆได้ สำหรับพันธุ์ไม้โดดเด่น ณ ลานหินแตกนี้ได้แก่ “กุหลาบขาว” ซึ่งจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
|
ทิวทัศน์ริมหน้าผา.....ผืนฟ้า.....แผ่นดิน และ นางแบบ !? |
|
..........ก้าวข้ามความลังเล.......... |
ลานหินแตกอยู่ห่างจากจุดจอดรถบริเวณ “ฐานพัชรินทร์” ไปทางทิศตะวันตกเพียงแค่ประมาณ 300 เมตร นักท่องเที่ยวจึงสามารถเดินมาชมความแปลกประหลาดอัศจรรย์ตามธรรมชาติของลานหินแตกได้อย่างสะดวกสบาย แต่หากต้องการจะไปนั่งรอชมภาพพระอาทิตย์ตกริมหน้าผาสวย ๆ ก็ต้องเดินจากลานหินแตกต่อไปอีกประมาณ 300 เมตรจึงจะถึงจุดชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ตก ระหว่างเส้นทางสู่ “จุดชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกลานหินแตก” นักท่องเที่ยวจะต้องเดินผ่านสะพานไม้เล็ก ๆ ที่ทอดข้ามผ่านรอยแยกของลานหิน รอยแยกเหล่านี้บางรอยมีความลึกมากถึง 20 เมตร หากประมาทพลาดพลั้งตกลงไปก็อาจจะกลายร่างเป็นก้อนเนื้อเละ ๆ ได้แบบไม่ทันรู้ตัว สำหรับนักท่องเที่ยวที่มักจะหลงทางหลงทิศอยู่เป็นนิจ ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่าให้ลองสังเกตบริเวณ “หัวเสา” ของสะพานไม้ข้ามรอยแยกดี ๆ จะพบว่ามีเครื่องหมายลูกศรชี้บอกเส้นทางเดินไปยังจุดต่อไปแปะติดอยู่ (เครื่องหมายลูกศรนี้จะแปะติดอยู่บริเวณหัวเสาของทุก ๆ สะพานทั้งขาไปและขากลับ) นักท่องเที่ยวสามารถใช้เครื่องหมายเหล่านี้เพื่อนำทางไป – กลับ “จุดชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกลานหินแตก” ได้
|
อุตส่าห์หามุมถ่ายภาพสวย ๆ ได้ทั้งที.....ทำไมน้องพี่ทำหน้าเหมือนท้องผูกล่ะเนี่ย ? |
|
..........ณ "ลานหินปุ่ม อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า" อ.นครไทย จ.พิษณุโลก..........
|
2. ลานหินปุ่ม เป็นลานกว้างริมหน้าผา มีหินนูนขึ้นเป็นปุ่มไล่เลี่ยกันเป็นจำนวนมาก จากการศึกษาทางธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าลานหินปุ่มเกิดขึ้นในลักษณะเช่นเดียวกันกับลานหินแตก เพียงแต่บริเวณลานหินปุ่มจะมีปุ่มหินนูนซึ่งมีขนาดเล็กและมีจำนวนมากกว่าบริเวณลานหินแตกเท่านั้น ในอดีต พคท.เคยใช้พื้นที่บริเวณลานหินปุ่มเป็นสถานที่พักฟื้นคนไข้เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีสายลมเย็นพัดผ่านอยู่เกือบตลอดเวลา
|
..........เก็บตะวันที่เคยส่องฟ้า.......... |
|
หินน้อย.....หินใหญ่.....ในแสงสลัวยามเย็น |
|
รอคอยดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า.....ริมหน้าผา "ลานหินปุ่ม" |
|
..........ชุมนุมกลุ่มคนรักความโรแมนติก.......... |
ในช่วงปลายฤดูฝน – ฤดูหนาว บางวันนักท่องเที่ยวอาจจะสามารถพบเห็นทะเลหมอกลอยอยู่เหนือผืนป่าด้านล่างลานหินปุ่มได้ บริเวณลานหินปุ่มนี้นอกจากจะมีลักษณะภูมิประเทศที่งดงามแปลกตาแล้วยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกลไปจนถึงสุดเส้นขอบฟ้าด้วย สำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยมชมชอบบรรยากาศอาทิตย์อัสดงในยามเย็น ลานหินปุ่มเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งสามารถชมพระอาทิตย์ตกได้สวยงาม (หากเปรียบเทียบระหว่าง “ลานหินปุ่ม” กับ “ลานหินแตก” การเลือกชมพระอาทิตย์ตกบริเวณลานหินปุ่มจะมีความสวยงามมากกว่า) ภาพแสงเงาที่เกิดขึ้นท่ามกลางกลุ่มของปุ่มหินน้อยใหญ่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งยากจะหาที่ใดเหมือน
|
1. ปืนต่อสู้อากาศยาน 2.ร่องรอยกระสุนปืนใหญ่ 3.ดอก..?.. 4.นักเดินทาง |
|
ธรรมชาติอันงดงามของผาหินระหว่างเส้นทางวนรอบ "ลานหินปุ่ม - ผาชูธง - สำนักอำนาจรัฐ" |
จากลานหินปุ่มมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่สามารถเดินต่อเนื่องเป็นวงรอบไปจนถึง “ผาชูธง” และ “สำนักอำนาจรัฐ” ได้ ระหว่างทางนักท่องเที่ยวจะสามารถพบเห็นจุดน่าสนใจต่าง ๆ ได้อีกหลายแห่ง เช่น “สุสานนักรบกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย (สุสานนักรบ ทปท.)” สถานที่ซึ่งใช้ฝังร่างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่เสียชีวิตบนสมรภูมิภูหินร่องกล้า ญาติผู้เสียชีวิตและนักท่องเที่ยวมักจะนำเอาดอกไม้ บุหรี่ อาหาร น้ำดื่ม และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาวางเพื่อแสดงการคารวะต่อดวงวิญญาณของเหล่านักรบ , “ซันแครก (Sun Crack)” ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่บ่งบอกให้รู้ว่าในอดีตพื้นที่บางส่วนของภูหินร่องกล้าเคยจมอยู่ใต้ท้องทะเลมาก่อน แรงอัดของน้ำทำให้เกิดชั้นหินทรายซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ความร้อนของแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันและความเย็นในช่วงกลางคืนทำให้ชั้นหินแตกร้าว และฝนทำให้เกิดการสึกกร่อนของชั้นหิน , “ปืนต่อสู้อากาศยาน” เป็นปืนที่สมาชิก พคท. ใช้ต่อต้านการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินแบบต่าง ๆ ของทางฝ่ายรัฐบาล , ฯลฯ
|